top of page

ความหมายของโครงงานคอมพิวเตอร์

     โครงงานคอมพิวเตอร์ หมายถึง กิจกรรมการเรียนที่นักเรียนมีอิสระในการเลือกศึกษาปัญหา

ที่ตนเองสนใจ โดยจะต้องวางแผนการดำเนินงาน ศึกษา พัฒนาโปรแกรม โดยใช้ความรู้ทางกระบวนการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทักษะพื้นฐานในการพัฒนาโครงงาน  

      เรื่องที่นักเรียนสนใจและคิดจะทำโครงงาน  ซึ่งอาจมีผู้ศึกษามาก่อน นักเรียนสามารถทำโครงงานเรื่องดังกล่าวได้ แต่ต้องคิดดัดแปลงแนวทางในการศึกษา  การวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาโปรแกรม

หรือศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานเดิมที่มีผู้รายงานไว้ จุดมุ่งหมายสำคัญของการทำโครงงานเป็นการ

เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง ในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แก้ปัญหา ประดิษฐ์คิดค้น

หรือค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อการศึกษา ประดิษฐ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อฝึกให้นักเรียนเป็นบุคคลที่ใฝ่เรียนรู้ พัฒนาความคิดใหม่ ๆ ความมีคุณธรรมจริยธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้กับเพื่อนมนุษย์ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์

        คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยในทุก ๆ สาขาวิชา ดังนั้นโครงงานคอมพิวเตอร์

จึงมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในลักษณะของเนื้อหา กิจกรรม และลักษณะของประโยชน์

หรือผลงานที่ได้ ซึ่งอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 5 ประเภท คือ

          1. โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา (Educational Media)

          เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการผลิตสื่อเพื่อการศึกษา โดยการสร้างโปรแกรมบทเรียน

หรือหน่วยการเรียน ซึ่งอาจจะต้องมีภาคแบบฝึกหัด บททบทวน และคำถามคำตอบไว้พร้อม ผู้เรียนสามารถเรียนแบบรายบุคคลหรือรายกลุ่ม การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยนี้ ถือว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์การสอนไม่ใช่เป็นครูผู้สอน ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาบทเรียนแบบ Online ให้นักเรียน

เข้ามาศึกษาด้วยตนเอง

          โครงงานประเภทนี้สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสอนในวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาคอมพิวเตอร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคม วิชาชีพอื่น ๆ ฯลฯ โดยนักเรียนอาจคัดเลือกหัวข้อที่นักเรียนทั่วไปที่ทำความเข้าใจยาก มาเป็นหัวข้อในการพัฒนาโปรแกรมบทเรียน ตัวอย่างเช่น โปรแกรมสอนวิธีการใช้งานระบบสุริยะจักรวาล โปรแกรมแบบทดสอบวิชาต่าง ๆ

          2. โครงงานพัฒนาเครื่องมือ (Tools Development)

          เป็นโครงงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือมาใช้ช่วยสร้างงานประยุกต์ต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นในรูปซอฟต์แวร์ ตัวอย่างของเครื่องมือช่วยงาน เช่น ซอฟต์แวร์วาดรูป ซอฟต์แวร์พิมพ์งาน เป็นต้น สำหรับซอฟต์แวร์เพื่อการพิมพ์งานนั้นสร้างขึ้นเป็นโปรแกรมประมวลผลภาษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้เราใช้งานในงานพิมพ์ต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งรูปที่ได้สามารถนำไปใช้งานต่าง ๆ

ได้มากมาย

          3. โครงงานประเภทจำลองทฤษฎี (Theory Experiment)

          เป็นโครงงานใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองการทดลองของสาขาต่าง ๆ เป็นโครงงานที่ผู้ทำต้องศึกษารวบรวมความรู้ หลักการ ข้อเท็จจริงและแนวความคิดต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งในเรื่องที่ต้องการศึกษา แล้วเสนอเป็นแนวคิด แบบจำลอง หลักการ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสมการ สูตร หรือคำอธิบายก็ได้

พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการจำลองทฤษฎีด้วยคอมพิวเตอร์ การทำโครงงานประเภทนี้มีจุดสำคัญอยู่ที่ผู้ทำต้องมีความรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การทดลองเรื่องการไหลของเหลว ทฤษฎีการแบ่งแยกดีเอ็นเอ เป็นต้น

          4. โครงงานประเภทการประยุกต์ใช้งาน (Application)

          เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างผลงานเพื่อประยุกต์ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบและตกแต่งอาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับการผสมสี ซอฟต์แวร์สำหรับ

การระบุคนร้าย เป็นต้น โครงงานงานประเภทนี้จะมีการประดิษฐ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะสร้างใหม่หรือปรับปรุงดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ได้ โครงงานลักษณะนี้จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ก่อน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้

ในการออกแบบ และพัฒนาสิ่งของนั้น ๆ ต่อจากนั้นต้องมีการทดสอบการทำงานหรือทดสอบคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์แล้วปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ โครงงานประเภทนี้นักเรียนต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ภาษาโปรแกรมและเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจใช้วิธีทางวิศวกรรมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการพัฒนาด้วย

          5. โครงงานพัฒนาเกม (Game Development)

          เป็นโครงงานพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเพื่อความรู้ และ/หรือ ความเพลิดเพลิน เช่น เกมหมากรุก

เกมหมากฮอส เกมการคำนวณเลข ซึ่งเกมที่พัฒนาขึ้นนี้น่าจะเน้นให้เป็นเกมที่ไม่รุนแรง เน้นการใช้สมองเพื่อฝึกคิดอย่างมีหลักการ โครงงานประเภทนี้จะมีการออกแบบลักษณะและกฎเกณฑ์การเล่น

เพื่อให้น่าสนใจแก่ผู้เล่น พร้อมทั้งให้ความรู้สอดแทรกไปด้วย ผู้พัฒนาควรจะได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเกมต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปและนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นเกม

ที่แปลกใหม่ และน่าสนใจแก่ผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ 

โครงงานที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้

          1. สามารถตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาของโครงงานได้อย่างครบถ้วน

          2. เป็นไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้

          3. สามารถดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และเสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนด

          4. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ

 

ขั้นตอนการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

          1. คัดเลือกหัวข้อโครงงานที่สนใจ

          โดยทั่วไปเรื่องที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงงานคอมพิวเตอร์ มักจะได้มาจากปัญหา คำถาม

หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ จากการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือสิ่งต่างๆ

รอบตัว 

          2. ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล

          การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล ซึ่งรวมถึงการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ

จะช่วยให้นักเรียนได้แนวคิดที่ใช้ในการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่จะศึกษาจนสามารถใช้ออกแบบและวางแผนดำเนินการทำโครงงานนั้นได้อย่างเหมาะสม

          3. จัดทำข้อเสนอโครงงาน

          เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน นักเรียนควรเขียนข้อเสนอโครงงานเพื่อเสนอกับอาจารย์ผู้สอน การเขียนข้อเสนอจะเป็นการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นให้เป็นระบบในขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรวมถึงตารางกำหนดการทำงานและกำหนดระยะเวลา

ที่ต้องทำงานแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จด้วย โดยมีหัวข้อในการจัดทำข้อเสนอโครงการหลัก ๆ ดังนี้

          4. การจัดทำโครงงาน

          ในขั้นตอนนี้มีการรวบรวมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้ครบถ้วน มีการดำเนินงานตามตารางเวลา

การทำงานอย่างเคร่งครัด เมื่อมีความก้าวหน้าในงาน จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของผลที่ได้

อย่างสม่ำเสมอ และควรจดบันทึกความก้าวหน้า รวมถึงอุปสรรคที่ได้พบและวิธีการแก้ไขด้วย

          5. การเขียนรายงาน

          ในขั้นตอนนี้เป็นการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดมาเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาโครงงานเดิมต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในกรณีที่มีผู้อื่นต้องการทำโครงการ

ที่คล้ายกันก็จะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราได้บันทึกไว้โดยทันที

          6. การนำเสนอและแสดงโครงงาน

          การนำเสนอและการแสดงผลงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำโครงงาน

เพื่อแสดงออกถึงผลิตผลความคิด ความพยายามในการทำงานที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเท และเป็นวิธีทำ

ให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้น การเสนอผลงานอาจทำได้ในหลายรูปแบบต่างๆ กัน เช่น การแสดงผลงาน  โดยไม่มีการอธิบายประกอบการรายงานด้วยคำพูดในที่ประชุม การจัดนิทรรศการโดยโปสเตอร์และอธิบายด้วยคำพูด เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

 

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2554).  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6. กรุงเทพฯ:  

          องค์การค้าคุรุสภา.

โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง. โครงงานคอมพิวเตอร์. (ออนไลน์). http://www.acr.ac.th/acr/ACR_E-Learning/CAREER_COMPUTER/

          COMPUTER/M4/ComputerProject/. 30 ตุลาคม 2559.

ลักษณะของโครงงานที่ดี. (ออนไลน์). https://krucarem32.wordpress.com/2013/08/21/. 30 ตุลาคม 2559.

โครงงานคอมพิวเตอร์

bottom of page