top of page

หลักการแก้ปัญหา

ขั้นตอนการแก้ปัญหา

         การแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาบางปัญหาสามารถหาคำตอบได้ทันที ขณะที่บางปัญหาอาจต้องใช้เวลานานในการค้นหาคำตอบ

ซึ่งคำตอบที่ได้ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสามารถ

นำไปอ้างอิงต่อได้ การแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลมีขั้นตอนและใช้เวลาที่แตกต่างกัน

ความรู้และประสบการณ์จะส่งผลต่อความสามารถในการแก้ปัญหา

     ขั้นตอนการแก้ปัญหาข้างต้นนำเสนอโดยนักคณิตศาสตร์ ชื่อ จอร์จ โพลยา

(George Poya) ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 และยังคงเป็นขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ใช้เป็นหลักปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละขั้นตอน มีรายละเอียดที่สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา

     ในการที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจปัญหาเพื่อแยกให้ออกว่า (1) สิ่งที่ต้องการคืออะไร และ (2) ข้อมูลที่กำหนดให้คืออะไร หลังจากนั้น
จึงพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดให้เพียงพอที่จะหาคำตอบ
ของปัญหาหรือไม่ 

 

2. การวางแผนในการแก้ปัญหา

     เมื่อทำความเข้าใจแล้ว ควรวางแผนในการแก้ปัญหาด้วยการเลือกใช้เครื่องมือ

และวิธีการ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ประสบการณ์เดิมของผู้แก้ปัญหาจะมีส่วนช่วย

อย่างมากในขั้นตอนนี้ ฉะนั้น ในการเริ่มต้นจึงควรจะเริ่มต้นด้วยการถามตนเองว่า

"เคยแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่"  ในกรณีที่มีประสบการณ์มาก่อน

ควรจะใช้ประสบการณ์มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาโดยปรับปรุงให้เหมาะสม

กับปัญหาใหม่  โดยอาจอาศัย รหัสลำลอง (pseudocode) หรือผังงาน (flowchart)

เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดความคิด

3. การดำเนินการแก้ไขปัญหา

     เมื่อวางแผนแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งได้แก่ การนำเครื่องมือและวิธีการ

ที่ได้วางแผนไว้ในขั้นตอนที่ 2 มาดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งการดำเนินการแก้ปัญหา

อาจทำให้เห็นแนวทางที่ดีกว่าวิธีที่คิดไว้ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้

4. การตรวจสอบและปรับปรุง

     เมื่อได้ดำเนินการแก้ปัญหาแล้วจำเป็นต้องตรวจสอบว่าวิธีการดังกล่าวนำมา

ซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ตามรายละเอียดของปัญหาที่กำหนดไว้ในขั้นตอนแรกหรือไม่

ถ้าหากผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จะต้องปรับปรุงวิธีการให้ถูกต้อง

      ในบางครั้งการแก้ปัญหาตามขั้นตอนข้างต้นในครั้งแรกนั้น อาจไม่เพียงพอ

ที่จะทำให้ได้คำตอบที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ยังเข้าใจปัญหาไม่ดีพอ ข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือวิธีการที่ใช้แก้ปัญหายังไม่เหมาะสม ยังไม่ครอบคลุม

กรณีต่าง ๆ ของปัญหา ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องมีการย้อนกลับไปทำขั้นตอน

ที่ผ่านมาซ้ำ ๆ เพื่อทบทวนและปรับปรุงจนกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง ดังรูป

ประโยชน์ของขั้นตอนการแก้ปัญหา 4 ขั้นตอน

       • ช่วยให้เราฝึกการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน

       • ฝึกการคิดวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างมีระบบระเบียบ

       • ทำให้เรารู้จักการวางแผน หาวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม

       • สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้

       • ทำให้เราเป็นคนที่มีความละเอียด รอบคอบมากยิ่งขึ้น

       • เป็นประโยชน์ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

สถานการณ์ตัวอย่าง

    "ธีรภัทร ชอบเล่นเกมในตอนกลางคืนจนดึกส่งผลให้ธีรภัทรมักหลับในเวลาเรียนและตามบทเรียนไม่ทัน" 

    ถ้านักเรียนเป็นธีรภัทรจะมีวิธีการแก้ปัญหานี้

ได้ย่างไร ตามขั้นตอนการแก้ไขปัญหา 4 ขั้นตอน

1. ขั้นวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา  
     ธีรภัทรหลัับในเวลาเรียนและตามบทเรียนไม่ทัน เพราะ

        - เล่นเกมจนดึก

        - นอนดึก

        - หลับในเวลาเรียน
 2. ขั้นการวางแผนแก้ปัญหา 
     หาวิธีการแก้ปัญหา ดังนี้ 

        - งดเล่นเกมตอนกลางคืน

        - เข้านอนให้เร็วขึ้น

        - แบ่งเวลาในการทบทวนบทเรียน

        - แบ่งเวลาในการเล่นเกมให้น้อยลง
3. ขั้นดำเนินการแก้ปัญหา  

        - ลดเวลาเล่นเกมให้น้อยลงเพื่อแบ่งเวลา

มาทบทวนบทเรียนและเข้านอนให้เร็วขึ้น
4. ขั้นการตรวจสอบและปรับปรุง 

       ธีรภัทรไม่หลับในเวลาเรียนและตามทันบทเรียน

bottom of page